Ecosystem คืออะไร
Ecosystem หรือ “Ecosystem Business” เป็นรูปแบบธุรกิจอีกหนึ่งประเภท ที่จำลองเอาระบบนิเวศตามธรรมชาติ มาปรับใช้กับการทำธุรกิจ โดยมีแนวคิดเบื้องต้นคือ “การถ้อยทีถ้อยอาศัย” กล่าวคือ เป็นการร่วมมือกันของ 2 องค์กรเป็นอย่างน้อย เพื่ออาศัยประโยชน์ของกันและกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดต่อทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งจะไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบกันในธุรกิจระบบนี้ ถือว่าเป็นแนวความคิดรูปแบบใหม่ ที่แตกต่างจากแนวคิดเดิม ๆ อย่างสิ้นเชิง
เนื่องจากในอดีต การทำธุรกิจจะเป็นการทำธุรกิจแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีการถ้อยทีถ้อยอาศัย มีเพียงการแข่งขันเพียงเท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้หลาย ๆ บริษัทต้องพบกับทางตัน กลับกันในปัจจุบันเริ่มมีการพึ่งพาอาศัย “พาร์ทเนอร์” กันมากยิ่งขึ้น การแข่งขันจะไม่ใช้การแข่งกันแบบหัวเดียวกระเทียมลีบอีกต่อไป จะเป็นการร่วมมือกันเพื่อเพิ่มกำลังการแข่งขันให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยทรัพยากรที่ใช้งานร่วมกันให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด
แนวคิดการทำธุรกิจแบบ Ecosystem ถือว่ามีส่วนสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากการแข่งขันในปัจจุบันดุเดือดมากกว่าอดีต “การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน” คือทางเลือกที่ดีที่สุด โดยต้องมุ่งเน้นไปที่ความเชื่อมโยงระหว่างกันและกัน พึ่งพาอาศัยกันอย่างเท่าเทียม ช่วยยกระดับศักยภาพของการทำธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
ทำไม Ecosystem ถึงสำคัญต่อธุรกิจ
จากหัวข้อก่อนหน้านี้ คุณอาจเข้าใจแล้วว่า Ecosystem เป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการหลายคนที่สงสัยเกี่ยวกับความสำคัญของการร่วมมือกับคู่ค้าอื่น ๆ ใน Ecosystem ซึ่งเป็นคำถามที่พบบ่อยเนื่องจากบางรายอาจรู้สึกว่าพวกเขามีทรัพยากรที่เพียงพอในการแข่งขันและไม่จำเป็นต้องมีความร่วมมือกัน
อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ยืนยันว่าการทำธุรกิจต้องอาศัย Ecosystem เท่านั้น แต่ขอนำเสนอข้อดีของการทำธุรกิจแบบ Ecosystem สำหรับการประเมินความสำคัญและความเหมาะสมของกลยุทธ์นี้สำหรับธุรกิจของคุณในยุคปัจจุบัน
ความสำคัญของการทำธุรกิจแบบ Ecosystem นั้นมากขึ้นอยู่กับความต้องการของธุรกิจแต่ละประเภท และข้อดีที่ได้รับจากการร่วมมือกับคู่ค้าที่หลากหลาย อาทิเช่น การเปิดโอกาสใหม่ในตลาด การแชร์ความเสี่ยง การนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการเลือกคู่ค้าที่เหมาะสม และวิธีการบริหารจัดการความสัมพันธ์ใน Ecosystem
- ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้เพิ่มมากขึ้นการทำธุรกิจแบบ Ecosystem ช่วยให้เปิดโอกาสของการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการร่วมมือกันจะช่วยดึงดูดลูกค้าของอีกฝั่ง เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
- การร่วมมือทางธุรกิจทำให้ต้นทุนลดน้อยลง ด้วยการร่วมมือกันในระบบ Ecosystem ทำให้มีการแบ่งปันทรัพยากรที่ใช้ดำเนินธุรกิจ ซึ่งนั่นทำให้ต้นทุนของการดำเนินธุรกิจลดลงเป็นอย่างมาก
- มีนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการ ระบบ Ecosystem ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันและแบ่งปันองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้วยแนวการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถต่อยอดออกมาเป็น ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ ไปจนถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่พร้อมพลิกโฉมธุรกิจได้เลยทีเดียว
- ได้รับความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น การทำธุรกิจแบบ Ecosystem ทำให้มีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียง ซึ่งส่งผลให้บริษัทได้รับชื่อเสียงตามไปด้วย ซึ่งนั่นทำให้เกิดแรงดึงดูดต่อ ลูกค้า นักลงทุน รวมไปถึงบุคลากรที่สนใจการทำงานในรูปแบบนี้
การสร้าง Ecosystem ให้ประสบผลสำเร็จ
หากคุณเริ่มต้นธุรกิจแบบ Ecosystem อย่างแรกเลยคือคุณต้องดำเนินการทางด้านกลยุทธ์ให้มั่นคงเสียก่อน โดยขั้นแรกคือการมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพที่เพียบพร้อม กำหนดทิศทางของการทำงานร่วมกันให้อยู่ในจุดที่ดีที่สุด พร้อมกับมีการบูรณาการให้ธุรกิจทั้งหมดใน Ecosystem ดำเนินงานกันได้อย่างราบรื่น โดยจะต้องยึดเอา “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” และมีทัศนคติที่เปิดกว้าง รับฟังแนวคิดใหม่ ๆ จากพาร์ทเนอร์ พร้อมปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวะของต้องตลาดอย่างทันท่วงที ซึ่งหากสามารถวางกลยุทธ์เบื้องต้นเช่นนี้ได้แล้ว ไปต่อกันที่ขั้นตอนการดำเนินการได้เลย ด้วยขั้นตอนเบื้องต้นดังนี้
- กำหนดบทบาทหน้าที่ใน Ecosystem ระบุให้ชัดเจน ต้องเป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายพึงพอใจทั้งหมด
- ระบุมูลค่าที่สมเหตุสมผล ในระบบธุรกิจคุณอาจไม่ใช่เพียงบริษัทเดียวที่ยื่นข้อเสนอไปสู่พาร์ทเนอร์ ดังนั้นต้องเตรียมมูลค่าทางธุรกิจที่สมเหตุสมผล มีแรงดึงดูดต่อการทำการค้าร่วมกัน
- กำหนดรูปแบบรายได้ กำหนดทิศทางของรายได้ที่จะเข้ามาหลังการร่วมงาน จัดแจงการกระจายรายได้ให้ชัดเจนมากที่สุด
- กำหนดกฎเกณฑ์ข้อตกลงต่าง ๆ สร้างข้อตกลงการดำเนินการ โดยมีข้อบังคับที่ชัดเจน ระบุความรับผิดชอบอย่างละเอียด เพื่อให้การร่วมงานกันไม่มีข้อพิพาทในภายหลัง
- สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล เลือกใช้แพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับการใช้งาน ควรมองหาแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่น รองรับการทำงานที่แตกต่างกันได้ภายในแพลตฟอร์มเดียว
- ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ติดตามผลการดำเนินงาน มองหาจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข พร้อมมองหาจุดแข็งที่ได้รับจากการทำงานร่วมกัน
- อำนวยความสะดวกให้กันและกัน เพื่อให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรมีการช่วยเหลือกันในบางกรณี พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกให้กันและกันอยู่เสมอ
- อย่าหยุดมองหาแนวคิดใหม่ ๆ จุดแข็งของธุรกิจแบบ Ecosystem คือ “สองหัวดีว่าหัวเดียว” ดังนั้นอย่าหลุดคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เตรียมตัวให้พร้อมกับการแข่งขันอยู่เสมอ
Ecosystem ในสายอุตสาหกรรม
การนำเอาแนวคิด Ecosystem มาประยุกต์ให้เข้ากับสายงานอุตสาหกรรม ช่วยให้การดำเนินธุรกิจนั้นไม่ได้โดดเดี่ยว แต่เป็นการดำเนินธุรกิจภายในระบบขนาดใหญ่ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน พร้อมกับลดต้นทุนไปในเวลาเดียวกัน ด้วยระบบการทำงานที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ส่งผลให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าการทำธุรกิจแบบโดดเดี่ยว ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ระบบ Ecosystem ประกอบด้วยผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการ และลูกค้า ในทุกส่วนที่เรากล่าวถึง พวกเขาไม่ได้เพียงแค่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมการแข่งขัน เพื่อสร้างส่วนแบ่งทางการตลาด รวมไปถึงการผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกด้วย
ตัวอย่าง Ecosystem ที่ประสบความสำเร็จ
ระบบ Ecosystem ของ Apple
หากนับเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยี คงไม่มีชื่อไหนที่ขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จมากไปกว่า Apple อีกแล้ว ด้วยระบบ Ecosystem ที่ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ iPhone, iPad, Mac, Apple Watch พร้อมด้วยบริการต่าง ๆ เช่น บริการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบน App Store, บริการจัดการข้อมูลต่าง ๆ บน iTunes, พื้นที่จัดเก็บข้อมูลบน iCloud, แพลตฟอร์มการทำธุรกรรม Apple Pay และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Apple TV+ ทั้งหมดที่กล่าวมามีการสอดประสานกันอย่างราบรื่นระหว่าง “ซอฟต์แวร์” “ฮาร์ดแวร์” “บริการ” ทำให้เกิดความเหนียวแน่นของผู้ใช้บริการ ส่งผลให้แบรนด์ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้
ระบบ Ecosystem ของ Amazon
ระบบ Ecosystem ของ Amazon ได้รับการออกแบบมาเพื่อการให้บริการที่ “สะดวก” และ “รวดเร็ว” ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์รวมถึงบริการได้อย่างง่ายดาย ในเวลาเดียวกันก็ช่วยให้ทำให้เกิดบุคคลภายนอก สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของ Amazon ได้อีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ Amazon ประกอบไปด้วย แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Amazon Prime, แพลตฟอร์มคลาวด์สุดอัจฉริยะ Amazon Web Services และ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง Amazon Marketplace เป็นต้น
ระบบ Ecosystem ของ Google
Google เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีการใช้ Ecosystem ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย เช่น Google Search, Google Maps, Google Drive, Gmail, Google Docs และ Youtube เป็นต้น จุดมุ่งหมายหลักของ Google มุ่งเน้นไปที่การ “สืบค้น” พร้อมนำเสนอผลลัพธ์ที่ผู้ใช้งานนั้นต้องการได้โดยง่าย เข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งเว็บไซต์ ภาพ เนื้อหา และ วิดีโอ พร้อมทั้งยังให้ความสำคัญกับระบบปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ด้วยตนเองของระบบอีกด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาก็คือประสบการณ์อันยอดเยี่ยมของผู้ใช้งานนั่นเอง
ระบบ Ecosystem ของ Uber
Uber จะมีระบบการให้บริการที่มุ่งเน้นไปที่การขนส่งเป็นหลัก ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย ด้วยแพลตฟอร์มที่แก้ไขความยุ่งยากของการเดินทาง ระบบ Ecosystem ของ Uber นั่น จะเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับการเรียกรถ ชำระเงิน การขนส่งสิ่งของ เป็นต้น โดยมีบริการอื่น ๆ ที่หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Uber Eats บริการสำหรับการสั่งอาหารเดลิเวอรี และ Uber Freight บริการสำหรับการขนส่งสิ่งของ
ระบบ Ecosystem ของ Microsoft
สุดท้ายเป็นบริษัทที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้อย่างแน่นอน “Microsoft” โดยประกอบไปด้วยระบบปฏิบัติการอย่าง Windows, แพลตฟอร์มมือถือ Windows Phone, บริการ Cloud Computing Azure, ซอฟต์แวร์เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อย่าง Microsoft 365, เครื่องมือการทำงานร่วมกัน เช่น Microsoft Teams และเครื่องมือการพัฒนา เช่น Visual Studio ซึ่งนี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวของผลิตภัณฑ์ของ Microsoft เพราะในตอนนี้ได้ให้บริการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งระบบ Ecosystem คือชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีทั้งนักพัฒนา และ คู่ค้าที่สามารถสร้างและใช้งานแอปพลิเคชัน เพื่อให้บริการกับบุคคลที่ 3 ตามข้อเสนอของ Microsoft ด้วยแนวคิดนี้ทำให้บริษัทเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่องอย่างในทุกวันนี้
Quick Suggest
หากสนใจเรียนรู้เพิ่มเติม ขอแนะนำบทความ
สรุป
การดำเนินธุรกิจในตอนนี้ ไม่ควรเป็นการดำเนินธุรกิจแบบฉายเดี่ยว โอกาสที่คุณจะสามารถเอาชนะการแข่งขันนั้นน้อยมาก ๆ ทางที่ดีคุณควรทำความรู้จักกับแนวคิดแบบ Ecosystem สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ดีให้กับองค์กรของคุณ การดำเนินงานโดยมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ มีส่วนช่วยโดยตรงให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสได้เข้าไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ช่วยสร้างความได้เปรียบระหว่างการแข่งขัน พร้อมสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากคู่แข่งทางการค้าได้อีกด้วย
ก้าวเข้าสู่ Digital Business
ดูผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่