สำหรับการใช้ชีวิตในทุกวันนี้ สิ่งที่ทุกคนขาดไปไม่ได้เลยก็คือ “อินเทอร์เน็ต” เรามั่นใจว่าทุก ๆ คนย่อมมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตติดตัวอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับบทความของเราในบทนี้ เพราะเราจะมานำเสนอเรื่องราวของ IoT หากเห็นเพียงตัวย่อสั้น ๆ เพียงเท่านี้ คุณอาจเกิดความสงสัยว่าคำ ๆ นี้คืออะไร แต่หากได้รู้ถึงคำเต็ม ๆ คุณจะเข้าใจที่มาของระบบนี้ทันที โดยระบบนี้คือ “Internet of Things” แปลกันตรงตัวเลยก็คือ “อินเทอร์เน็ตคือทุกสิ่ง”
บทความนี้เรามารู้จักกับระบบนี้กันให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับรู้ถึงข้อแตกต่างกับ IIoT อีกหนึ่งระบบที่มีชื่อละม้ายคล้ายกัน แต่มีการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง และยังได้รู้ข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ เกี่ยวกับคำว่า “อินเทอร์เน็ตคือทุกสิ่ง” ให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
IoT คืออะไร ?
ก่อนอื่นนั้นต้องขอแนะนำให้คุณได้รู้จักกับ IoT ( ย่อมาจาก Internet of Things ) แม้ว่าด้วยชื่อนั้นจะดูเป็นหลักการยาก ๆ ที่ใช้กันเฉพาะทาง แต่ในความหมายที่แท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากทุกอย่างเป็นความหมายตรง ๆ ทั้งหมด “อินเทอร์เน็ตคือทุกสิ่ง” คือระบบที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต คุณสามารถสั่งการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กับสิ่งนั้น ๆ ก็สามารถใช้งานได้ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน ระบบบ้านแบบสมาร์ทโฮม เป็นต้น
IoT อาจเรียกอีกอย่างได้ว่า M2M ( Machine to Machine ) ซึ่งมีความหมายคือ การปล่อยให้เครื่องจักรนั้นสั่งการกันเองผ่านทางสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยระบบนี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1999 ภายในโปรเจ็คของมหาวิทยาลัย MIT หลักการทำงานหากให้อธิบายง่าย ๆ เลยก็คือ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสั่งงานอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่ง วัตถุประสงค์หลัก ๆ เลยก็คือเพิ่มความสะดวกสบายให้การใช้ชีวิตประจำวัน
Quick Suggest
หากสนใจเรียนรู้เพิ่มเติม ขอแนะนำบทความ
IIoT คืออะไร ?
มาต่อกันที่ IIoT ( ย่อมาจาก Industrial Internet of Things ) หลักการทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ยังคงเป็น “อินเทอร์เน็ตคือทุกสิ่ง” เช่นเคย แต่มีคำเพิ่มเติมขึ้นมาคือ “ทางอุตสาหกรรม” กล่าวรวม ๆ เลยก็คือ เป็นระบบ IoT ที่มีเอาไว้เพื่อทำงานในทางอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งจะแตกต่างจากแนวคิดเดิม ที่มีเอาไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน
เนื่องจากมีวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของ IIoT แตกต่างออก จากเดิมที่อาจเป็นการสั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าเล็ก ๆ ภายในบ้าน ในตอนนี้ก็จะกลายเป็นการสั่งงานเครื่องจักรขนาดใหญ่ภายในโรงงานแทน ซึ่งจะมีความละเอียดมากกว่า มาพร้อมกับการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ติดตามผล และฟังก์ชันอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อช่วยให้กระบวนการผลิตนั้นดำเนินการได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
IoT vs. IIoT ถึงชื่อคล้ายกัน แต่ก็มีส่วนที่ต่างกันอย่างชัดเจน
จากเนื้อหาข้างต้น คุณน่าจะรู้จักกับ IoT และ IIoT กันไปบ้างแล้ว จะเห็นได้ว่าแม้ทั้ง 2 จะมีหลักการที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีจุดแตกต่างที่เด่นชัด สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ยังสงสัยอยู่ว่าต่างกันมากน้อยเพียงใด ต่อจากนี้เราจะมาแนะนำ 3 จุดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนมากที่สุด ทำให้เราแยกออกว่าระบบไหนเป็น IoT หรือ IIoT ตามเนื้อหาดังต่อไปนี้
ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่อเข้ากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีระบบ Smart Device จะถูกเรียกว่า “Thing” ซึ่งส่วนนี้ภายใน IoT และ IIoT จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ
- IoT จะมี Thing เป็น “Consumer Base” มุ่งเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกของการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก เช่น การสั่งการอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าใน Smart Home การใช้งาน Smart Watch เพื่อรับสายโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
- IIoT จะมี Thing เป็น “Machine” หรือก็คือเครื่องจักร มีส่วนประกอบเป็น เซ็นเซอร์, มิเตอร์, Actuators และ Controller มีหน้าที่สั่งการให้เครื่องจักรเริ่มทำงาน-หยุดทำงาน เก็บข้อมูลต่าง ๆ ตรวจนับการทำงาน เป็นต้น
อุปกรณ์ที่ใช้
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ คืออุปกรณ์ที่ใช้เพื่อทำให้ระบบทั้งหมดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเรียกว่า “เครื่องส่งสัญญาณ” ก็ได้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าทั้ง IoT และ IIoT ใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- IoT จะใช้อุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก ราคาถูก ใช้พลังงานต่ำ ยกตัวอย่างเช่น Zigbee และ LoRaWAN เป็นต้น การใช้งานมุ่งเน้นไปที่ความยืดหยุ่น ใช้งานได้หลากหลายประเภท
- IIoT จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความทนทานค่อนข้างสูง เนื่องจากพื้นที่ทำงานนั้นมีอุณหภูมิที่สูง จำเป็นต้องทนอุณหภูมิได้อย่างน้อยที่ 50 องศาเซลเซียส อุปกรณ์จะมีราคาแพง เนื่องจากเป็นเกรดอุตสาหกรรม และยังต้องมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะทางอีกด้วย เช่น ความเสถียร , ความปลอดภัย และ ความแม่นยำ
วัตถุประสงค์การใช้งาน
ในข้อนี้เป็นข้อแตกต่างที่เรามั่นใจว่า “ต่างกันโดยสิ้นเชิง” เนื่องจากทั้ง 2 ข้อนั้นยังมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างในบางจุด แม้จะมีข้อแตกต่างกันก็ตาม แต่เมื่อมาถึงวัตถุประสงค์การใช้งาน ทั้ง IoT และ IIoT จะมีแนวทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนี้
- IoT มุ่งเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานเป็นหลัก ทั้งในด้านของการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงด้านสุขภาพ เป็นต้น
- IIoT จะไม่มุ่งเน้นไปที่ผู้ใช้งาน แต่จะมุ่งเน้นไปที่ผลผลิตของการทำงาน ความปลอดภัยของข้อมูล ความแม่นยำ ประสิทธิภาพของการผลิตในเครื่องจักรประเภทนั้น ๆ
การใช้งานของ IoT ในสายอุตสาหกรรม
เมื่อเป็นการใช้งานระบบ IoT ภายในโรงงานอุตสาหกรรม ต้องใช้คำว่า IIoT ถึงจะถูกต้องมากกว่า โดยประโยชน์ที่นำระบบนี้มาใช้ในงานอุตสาหกรรมคือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างเห็นผล ทั้งยังช่วยลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการโดยรวม ซึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป มักถูกนำมาใช้งานดังต่อไปนี้
- ติดตามสินทรัพย์ เนื่องจากเซ็นเซอร์ของ IIoT สามารถติดตามทั้งตำแหน่งและสถานะของสินทรัพย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ ยานพาหนะ รวมไปถึงจำนวนสินค้าคงคลังได้อย่าง Real Time
- ช่วยประหยัดพลังงาน ระบบ IIoT มีความสามารถตรวจสอบการใช้พลังงานได้ หากในจุดไหนเกิดการใช้พลังอย่างสิ้นเปลือง ก็สามารถแก้ไขให้ประหยัดมากขึ้น ส่งผลให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
- ช่วยแจ้งเตือนอันตรายต่าง ๆ ด้วยเซ็นเซอร์ของระบบ IIoT ที่มีความแม่นยำสูง ในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็สามารถตรวจพบได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่เกิดกำหนด แก๊สรั่ว ไปจนถึงการลักลอบกระทำการใด ๆ จากบุคคลภายนอก เป็นต้น
ความแตกต่างของการสื่อสารใน IoT และ IIoT
ตามปกติแล้วอุปกรณ์ IoT จะถูกออกแบบการตั้งค่าเพื่อให้สอดคล้องต่อการใช้งานของผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยทำงานผ่านระบบคลาวด์ ด้วยโปรโตคอลทั้งแบบไร้สายและมีสาย เนื่องจากมุ่งเน้นความยืดหยุ่นของการใช้งาน เช่น Wi-Fi, Bluetooth, Zigbee และเครือข่ายเซลลูลาร์ของสมาร์ทโฟน ซึ่งอาจเชื่อมโยงกันด้วยแอปพลิเคชันเป็นหลัก มีอัตราข้อมูลที่ต่ำ
แต่กลับกันอุปกรณ์ที่ใช้งานระบบ IIoT จะได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ การสื่อสารก็จะเป็นการเชื่อมต่อกับเครือข่ายไร้สายที่ใช้โปรโตคอลแบบพิเศษ เช่น Modbus, OPC-UA และ CAN เพื่อให้การสื่อสารนั้นแม่นยำมากที่สุด พร้อมเพิ่มความปลอดภัยเป็นพิเศษอีกด้วย ป้องกันการถูกแฮกจากภายนอก และยังมีความพิเศษในเรื่องของการสั่งการที่แม้จะขาดการเชื่อมต่อไปแล้ว เมื่อกลับมาเชื่อมต่อก็สามารถดำเนินการคำสั่งเดิมไปในทันที ช่วยให้กระบวนการผลิตไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น แม้เกิดปัญหาขัดข้องกับอุปกรณ์
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งาน IoT และ IIoT
การประยุกต์ใช้ระบบ IoT
- Smart Home เป็นระบบที่หลาย ๆ บ้านเริ่มนำเข้ามาใช้กันแล้ว โดยในส่วนต่าง ๆ ของบ้านจะมีระบบ Smart Device เพื่อให้สามารถรองรับระบบ IoT ได้ ทุกอย่างภายในบ้านจะถูกควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็นการ การปิดเปิดไฟ ไปจนถึงระบบกันขโมย เป็นต้น
- การดูแลสุขภาพ ระบบ IoT ถูกนำมาใช้เพื่อดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ผ่าน Smart Watch ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่สามารถวัดความดันเลือด ชีพจร รวมไปถึงตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งเหมาะเป็นอย่างมากสำหรับการเฝ้าระวังผู้สูงอายุ เพราะในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน จะมีการส่งสัญญาณเตือนไปยังญาติในทันที
- การจัดการพลังงาน เนื่องจากปัญหาพลังงานเป็นเรื่องที่โลกควรต้องรับมือ ทำให้ระบบ IoT มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถตรวจจับการใช้พลังงานของอาคาร มีส่วนไหนที่ใช้พลังงานโดยสูญเปล่าไปบ้าง เพื่อให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพลังงานให้ถูกจุดมากที่สุด
- การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในตอนนี้ ทำให้ระบบ IoT มีส่วนสำคัญเพื่อเตือนภัยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนคุณภาพของน้ำ สภาพอากาศ ไปจนถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ทั่วโลกกำลังประสบในเวลานี้
- การคมนาคม ระบบ IoT ถูกนำมาใช้กับการคมนาคมมาโดยตลอด โดยจะตรวจจับตำแหน่งของรถ ความเร็วการเคลื่อนที่ ไปจนถึงเส้นทาง เพื่อนำไปวิเคราะห์ถึงเส้นทางที่ควรจะหลีกเลี่ยง และยังสามารถบันทึกพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับได้อีกด้วย
การประยุกต์ใช้ระบบ IIoT
- ใช้เพื่อเก็บข้อมูล ระบบ IIoT จะอาศัยเซ็นเซอร์รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลในขั้นตอนการผลิต และจะนำข้อมูลเหล่านั้นส่งต่อเข้าสู่ระบบคลาวด์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ Real Time มากที่สุด เช่น ความดัน อุณหภูมิ ระยะเวลาการทำงาน อัตราการผลิต จำนวนสินค้าที่ผลิต เป็นต้น
- ใช้ประมวลผลข้อมูล ภายใน IIoT มีอัลกอริทึมที่สามารถประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติได้ เพื่อทำให้ข้อมูลดิบที่เก็บข้อมูลมา กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ไม่ต้องนำไปคำนวณใหม่อีกครั้งให้เสียเวลา
- จัดการกำหนดการบำรุงรักษา ระบบ IIoT สามารถตรวจสอบได้ทันที หากเครื่องจักรมีชิ้นส่วนไหนที่ทำงานผิดปกติ ทำให้สามารถดำเนินการซ่อมบำรุงได้ในทันที หลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงหายที่ร้ายแรง แถมยังช่วยทำให้ระยะเวลาการทำงานไม่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย
- แสดงผลข้อมูล หลังจากเก็บข้อมูลแล้วนำมาประมวลผลข้อมูล ในลำดับถัดไประบบ IIoT สามารถนำเสนอข้อมูลเหล่านั้นออกมาในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น รายงาน กราฟ ไปจนถึงแดชบอร์ด ก็สามารถทำออกมาได้ในทันทีทันใด
- เพิ่มอำนาจการตัดสินใจ สุดท้ายแล้วเมื่อมีข้อมูลอันแม่นยำ อัปเดตข้อมูล Real Time อยู่ตลอด ทำให้เมื่อจำเป็นต้องนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ ก็สามารถตัดสินใจได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น และสามารถบ่งบอกถึงศักยภาพการทำงานในส่วนการผลิตต่าง ๆ ออกมาเป็นข้อมูลได้อย่างเด่นชัดอีกด้วย
การเชื่อมต่อระหว่างระบบ
สำหรับผู้ที่กำลังกังวลว่าระบบ IoT และ IIoT เมื่อนำมาใช้ภายในโรงงานอุตสาหกรรม จะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับการทำงานระบบอื่น ๆ ได้หรือไม่ ไม่ต้องเป็นกังวลเลยแม้แต่นิดเดียว เรื่องจากทั้ง 2 ระบบสามารถทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นระบบ ERP, CRM, MES หรือ SCADA ก็สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเช่นเดิม สามารถแบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ ที่ตรวจวัดได้ รวมไปถึงนำข้อมูลเข้าไปประมวลผลในส่วนกลาง และยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ ผ่านระบบ API ช่วยให้ดำเนินการทุกอย่างผ่านแอปพลิเคชัน เพิ่มความสะดวกให้การใช้งานให้มากยิ่งขึ้นเป็นอย่างมาก
Quick Suggest
หากสนใจเรียนรู้เพิ่มเติม ขอแนะนำบทความ
สรุป IoT และ IIoT ในปี 2023: นวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรม
IoT
- อุตสาหกรรมการผลิต: การใช้ IoT ในการควบคุมและติดตามกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความผิดพลาด โดยใช้เซ็นเซอร์ต่าง ๆ สำหรับตรวจสอบคุณภาพสินค้า และการปรับปรุงระบบจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติ
- การเกษตรอัจฉริยะ: การใช้ IoT เพื่อช่วยในการจัดการและติดตามพืชผักและสัตว์เลี้ยง อาทิ เครื่องมือวัดความชื้นในดิน, ระบบควบคุมการให้น้ำอัจฉริยะ และเซ็นเซอร์ตรวจจับศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพและควบคุมความเสี่ยงได้ดีขึ้น
- สุขภาพและการดูแลรักษา: IoT มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์สุขภาพอัจฉริยะ เช่น สายรัดข้อมือสุขภาพ อุปกรณ์ติดตามสุขภาพ และอุปกรณ์ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องง่ายขึ้น และสามารถป้องกันโรคร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การคมนาคมอัจฉริยะ: IoT สนับสนุนการพัฒนาระบบคมนาคมอัจฉริยะ เช่น ระบบจราจรอัจฉริยะ, ระบบจอดรถอัจฉริยะ, และการจัดการโครงข่ายขนส่งสาธารณะ ซึ่งช่วยในการลดการจราจรติดขัด ประหยัดเวลาในการเดินทาง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังสามารถปรับปรุงความปลอดภัยของผู้ใช้รถ ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์และกล้องวิดีโอเพื่อตรวจจับอุบัติเหตุและแจ้งเตือนผู้ขับขี่
- การจัดการพลังงานอัจฉริยะ: การนำ IoT มาใช้ในการจัดการและควบคุมการใช้พลังงาน ทำให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง นำไปสู่การส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการใช้พลังงานในอาคาร ระบบควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ และระบบควบคุมการปิดเปิดไฟฟ้าอัจฉริยะ
IIoT
- การผสมผสาน AI และการเรียนรู้ของเครื่อง: การนำ AI มาประยุกต์ใช้ใน IIoT ช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลและการตัดสินใจอัตโนมัติมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิผลและลดต้นทุนการผลิต
- ความปลอดภัยไซเบอร์: ความปลอดภัยของข้อมูลและการควบคุมการเข้าถึงเป็นเรื่องสำคัญใน IIoT เพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญของอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีการเข้ารหัสและมาตรการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลมีความสำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัย
- การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่: การนำข้อมูลจากเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ใน IIoT มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวโน้มและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถปรับปรุงและพัฒนากระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การติดตามและคว - คุมแบบเรียลไทม์: การใช้ IIoT ในการติดตามและควบคุมกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์ ช่วยให้สามารถตรวจสอบความคืบหน้าและสถานะของการผลิตได้ทันที ทำให้สามารถตรวจจับปัญหาและแก้ไขอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและลดความเสี่ยงของความล่าช้าและความเสียหาย
- การระบบควบคุมสั่งการและการสื่อสารที่ทันสมัย: การพัฒนาการสื่อสารข้อมูลและระบบควบคุมสั่งการใน IIoT ช่วยให้เครื่องจักรและอุปกรณ์สามารถสื่อสารกันและร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การจัดการกระบวนการผลิตเป็นเรื่องง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความยืดหยุ่นและการปรับปรุงประสิทธิภาพในระดับอุตสาหกรรม
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับเรื่องน่าสนใจของระบบ IoT และ IIoT หากคุณอ่านมาถึงจุดนี้ เรามั่นใจว่าคุณคงแยกออกแล้วว่าการทำงานของทั้ง 2 ระบบมีจุดไหนที่แตกต่างกันบ้าง ด้วยข้อแตกต่างเหล่านั้นทำให้การใช้งานนั้นแตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วก็เป็นระบบที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก ช่วยสร้างความสะดวกสบายให้การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มความปลอดภัย ลดต้นทุน และยังมีประโยชน์อีกมากมาย ที่สามารถนำระบบนี้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์
ก้าวเข้าสู่ Industry 4.0
ดูผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่