Lead time vs. Cycle time vs. Takt time คืออะไร
จากชื่อหัวข้อเราคงพอจะนึกภาพออกแล้วว่า ในบทความนี้จะนำเรื่องราวกลยุทธ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “เวลา” มาเป็นหัวข้อหลักในบทความนี้ ซึ่งมีกลยุทธ์ที่เรานำมาเจาะลึกในบทความนี้จะเป็น Lead time, Cycle time และ Takt time ทั้ง 3 นั้นเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการทำธุรกิจ เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกได้ถึงประสิทธิภาพของการผลิต สามารถนำไปเป็นค่ามาตรฐานสำหรับการนำไปปรับปรุง ให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยทั้ง 3 กลยุทธ์จะมีความหมาย วิธีคำนวณ รวมไปถึงกระบวนการที่แตกต่างกันออกไป ถ้าตอนนี้คุณพร้อมแล้วสำหรับการเรียนรู้กลยุทธ์ทั้ง 3 พร้อมกับมองหาข้อแตกต่างของกลยุทธ์แต่ละกลยุทธ์ ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันเลย !
Quick Suggest
หากสนใจเรียนรู้เพิ่มเติม ขอแนะนำบทความ
อธิบายเกี่ยวกับ Lead time
Lead time คืออะไร
หากกล่าวถึงการดำเนินธุรกิจ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับต้น ๆ อยู่เสมอคือ “เวลา” เนื่องจากเวลาเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ ที่สามารถกำหนดทิศทางของธุรกิจได้เลยว่าจะไปในทิศทางใด โดย Lead time ก็เป็นหนึ่งในคำที่มักพบในการทำธุรกิจทุกรูปแบบ เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีความซับซ้อนทางด้านความหมายแม้แต่น้อย เพราะเป็น “ระยะเวลาการดำเนินการ” ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่การเริ่มต้นไปจนถึงจุดสิ้นสุดในขั้นตอนของการส่งมอบสินค้า เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ สามารถรับชมตัวอย่างประกอบได้ดังนี้
ตัวอย่างของการคำนวณ Lead time
ตัวอย่าง 1
“นาย A ต้องการสั่งสินค้ากับโรงงานแห่งหนึ่งเป็นจำนวน 10,000 ชิ้น โรงงานแจ้งกลับนาย A ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาทั้งหมด 25 วัน สำหรับการจัดการคำสั่งซื้อนี้”
- จากเนื้อหาข้างต้น Lead time = 25 วัน
ตัวอย่าง 2
“นาย B สั่งอาหารจากแอปพลิเคชันเดลิเวอรี หลังจากกดสั่งออร์เดอร์ไปแล้ว 30 นาทีต่อมา นาย B ก็ได้รับอาหาร”
- จากเนื้อหาข้างต้น Lead time = 30 นาที
Lead time ของแต่ละธุรกิจนั้นจะมีระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากกระบวนการทำงานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต ขั้นตอนการบรรจุหีบห่อ ขั้นตอนการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งความสำคัญของ Lead time ต่อธุรกิจคือ ยิ่งมีระยะเวลาที่นานมากเท่าไหร่ ยิ่งเทียบกับคู่แข่งแล้วมีช่วงเวลา Lead time ที่ยาวนานกว่า โอกาสที่ลูกค้าจะหันไปเลือกใช้บริการคู่แข่งของคุณก็สูง ดังนั้นในทุก ๆ ธุรกิจ จึงต้องมีการวางแผนเพื่อให้ช่วงระยะเวลาที่ต้องรอคอยนั้นสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
สาเหตุที่ทำให้ Lead time เพิ่มมากขึ้น แก้ไขได้อย่างไร ?
ตามที่เราได้กล่าวไปแล้วเมื่อสักครู่ว่า Lead time ของแต่ละธุรกิจนั้นมีปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป การแก้ไขปัญหาก็แตกต่างกันตามไปด้วย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดปัญหาระยะเวลาการผลิตยาวนานเกินไป มักเกิดจากปัจจัยเหล่านี้
- การรอคอยวัตถุดิบที่ยาวนานจนเกินไป
- การขนส่งที่ล่าช้า
- แรงงานไม่เพียงพอต่อการทำงาน
- ความผิดพลาดต่าง ๆ ระหว่างขั้นตอนการผลิต
ซึ่งการแก้ปัญหาคือมองหาช่องทางที่ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณ พร้อมกับแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากที่สุด เพื่อให้ตัวเลขของ Lead time นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจได้ แนวทางแก้ไขเบื้องต้นก็สามารถทำได้ดังนี้ มองหาซัพพลายเออร์ที่มีความพร้อม, มีการร่วมมือกับคู่ค้าที่มีศักยภาพเพียงพอมาช่วยแก้ไขจุดด้อย มองหาจุดผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากที่สุด พร้อมแก้ไขปัญหาเหล่านั้นทันที เป็นต้น
“Lead time คือระยะเวลาทั้งหมดที่ลูกค้าจะต้องรอคอยสินค้า”
อธิบายเกี่ยวกับ Takt time
Takt time คืออะไร
Takt time (T/T) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยให้โรงงานของคุณ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการวัดผลการทำงานโดยตีออกมาเป็น “ระยะเวลาการทำงานต่องาน 1 ชิ้น” ซึ่งตีความได้ว่าเป็นความเร็วของการดำเนินการผลิตของโรงงานของคุณ ค่าของ Takt time จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานสุทธิใน 1 วัน เปรียบเทียบกับจำนวนสินค้าที่ต้องการใน 1 วัน โดยจะหักลบช่วงเวลาที่ไม่ได้ดำเนินงานออกไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาการเซ็ตเครื่องจักร, การประชุม, การพักเบรก
ค่า Takt time ที่หามาได้นั้น จะเป็นค่าที่นำไปเสนอกับลูกค้าว่า ใน 1 วันสามารถผลิตชิ้นงานได้เป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด ผนวกกับประเมินว่าความต้องการสินค้าของลูกค้า จะต้องใช้ระยะเวลาผลิตมากน้อยเพียงใด เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่า ลูกค้าจะตกลงเลือกให้โรงงานของคุณเป็นผู้ผลิตในงานนั้น ๆ หรือไม่ ยิ่งค่า Takt time น้อยเท่าไหร่ หมายความถึงมาตรฐานของโรงงานที่สูงมากไปเท่านั้น แต่ตัวเลขนี้เป็นเพียงค่าที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ อาจยังไม่ได้การันตีว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ตามที่คำนวณเอาไว้ทั้งหมด
ตัวอย่างของการคำนวณ Takt time
สูตรใช้หา Takt time = ระยะเวลาทำงานสุทธิต่อวัน/จำนวนสินค้าที่ต้องการ
ตัวอย่าง
“โรงงานแห่งหนึ่งมีการทำงานวันละ 3 กะ แต่ละกะมีระยะเวลาทำงาน 6 ชั่วโมง ในการทำงานแต่ละกะ จะมีช่วงเวลาหยุดพัก 1 ชั่วโมง เข้าประชุม 30 นาที เตรียมเครื่องจักร 20 นาที มีคำสั่งซื้อสินค้าด้วยความต้องการอยู่ที่ 50 ชิ้นงานต่อวัน”
วิธีการคำนวณ
เริ่มต้นด้วยการหา “ระยะเวลาทำงานสุทธิต่อวัน” เป็นนาทีเสียก่อน
- ทำงานกะละ 6 ชั่วโมงคิดเป็น 360 นาที ทำ 3 กะ = 360 x 3 เป็น 1,080
- หักลบระยะเวลาที่หยุดทำงานออกไป 1,080 – (หยุดพักx3) – (ประชุมx3) – (เตรียมเครื่องจักรx3)
- เป็น 1,080 – (60×3) – (30×3) – (30×3) =720
- ระยะเวลาทำงานสุทธิอยู่ที่ 720 นาทีต่อวัน
นำเอา “จำนวนสินค้าที่ต้องการ” มาหาร “ระยะเวลาทำงานสุทธิต่อวัน” เท่ากับ 720/50 = 14.4 นาทีต่อชิ้น
หมายเหตุ
ตัวเลข 1.44 นาทีต่อชิ้น เป็นเพียงการคำนวณด้วยค่าที่แน่นอน แต่ที่จริงแล้วการทำงานอาจมีตัวแปรทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นควรเพิ่มระยะเวลาเข้าไปในส่วนที่คาดไม่ถึง แนะนำอยู่ที่ 10%
ซึ่งนั่นจะทำให้เป็น 14.4+1.4 เท่ากับค่า Takt time ที่โรงงานนี้มีอยู่ที่ 15.4 นาทีต่อชิ้น (ค่านี้จะถูกนำไปใช้ในหัวข้อถัดไป)
สาเหตุที่ทำให้ Takt time เกิดขึ้น
สาเหตุที่มีการคิดค้นแนวคิด Takt time ขึ้นมา เนื่องจากจัดการกระบวนการผลิต จำเป็นที่จะต้องมีการประเมินประสิทธิภาพอยู่เสมอ การมีแนวคิด T/T เพื่อให้โรงงานรู้กำลังการผลิตของตนเอง ว่าสามารถตอบสนองต่อความต้องการของท้องตลาดมากเพียงใด สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางการค้าได้หรือไม่ รวมไปถึงยังเป็นมาตรการเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดอีกด้วย
“Takt time คืออัตราการผลิตสินค้า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับความต้องการสินค้า”
อธิบายเกี่ยวกับ Cycle time
Cycle time คืออะไร
“Cycle time” มีแนวคิดคล้าย ๆ กับ Takt time แต่มีจุดแตกต่างกันสักเล็กน้อย ตรงที่ Takt time จะเป็นตัวเลขที่โรงงานคำนวณออกมาด้วยค่าเฉพาะ ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งสามารถปรับให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามความต้องการ ตัวเลขจะเป็นค่าคงที่เสมอ แต่ Cycle time จะเป็นระยะเวลาการทำงานเพื่อให้เกิดขึ้นงานแต่ละชั้นตามเวลาจริง ๆ ซึ่งระยะเวลานั้นอาจไม่ได้ตรงกับ Takt time เป๊ะ ๆ ซึ่งในโรงงานที่มีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ค่าของ Cycle time จะต้องไม่มากกว่า Takt time เป็นอันขาด เพราะนั่นบ่งบอกถึงความด้อยประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต แน่นอนว่าจะสร้างความไม่พอใจให้ลูกค้าเป็นแน่
โดย Cycle time จะมีการแบ่งออกได้หลาย ๆ ไลน์ผลิต โดยคิดจากการผลิตสินค้าขึ้นมา 1 ชิ้น จะต้องผ่านกระบวนการใดบ้าง ในทุก ๆ ระยะเวลาที่ผ่านการทำงานในจะต้องถูกนำมานับรวมทั้งหมด เพื่อให้ได้ค่าจริง ๆ สุดท้ายแล้วค่าทั้งหมดจะนำมาเปรียบเทียบกันอีกที เพื่อใช้ตามหาจุดที่ต้องแก้ไขในขั้นตอนการผลิต เพื่อช่วยให้การผลิตนั้นมีความสมดุล ลดสภาวะคอขวดในกระบวนการผลิต ทำให้กำลังผลิตเป็นไปได้ตามที่คาดหวังเอาไว้ ไม่ทำให้เกิดความล่าช้าต่อคำสั่งซื้อ
ตัวอย่างของการคำนวณ Cycle time
สูตรใช้หา Cycle time = ระยะเวลาการผลิตทั้งหมด/จำนวนสินค้า
ตัวอย่าง
“ในกระบวนการผลิตสินค้าของโรงงานแห่งหนึ่ง มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนมีการใช้ระยะเวลาตามลำดับดังนี้ 3 นาที, 5 นาที, 6 นาที, 5 นาที และ 9 นาที ในการทำงานแบ่งออกเป็นรอบ ๆ ในแต่ละรอบจะสามารถผลิตชิ้นงานได้ 2 ชิ้น ทำเพียงขั้นตอนละ 1 รอบเท่านั้น ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะต้องทำพร้อมกันกับชิ้นงานทั้ง 2 ชิ้น ถึงสามารถไปต่อในขั้นตอนต่อไปได้”
วิธีการคำนวณ
เมื่ออ่านจากตัวอย่างเรามั่นใจว่าคุณอาจจะงงสักเล็กน้อย เพราะมีการระบุทั้งในจุดที่ว่า “รอบละ” และ “จำนวนรอบ” ซึ่งทั้ง 2 คำเป็นการระบุว่า ขั้นตอนการผลิตนั้นต่อ 1 ชิ้นงานจะต้องทำทั้งหมดกี่รอบ และในแต่ละรอบนั้นสามารถผลิตชิ้นงานได้กี่ชิ้น เมื่อเข้าใจถึงตัวอย่างแล้ว ต่อมาเราจะแสดงวิธีคิด Cycle time โดยละเอียด ดังนี้
- หาระยะเวลาทำงานทั้งหมด 3+5+6+5+9 = 28
- คิดตามขั้นตอนดังนี้ “ระยะเวลาทำงานทั้งหมด” หารด้วยจำนวนรอบ ได้คำตอบแล้วหารด้วย จำนวนชิ้นงาน ก็จะได้ค่า Cycle time ที่ต้องการ
- จากตัวอย่างสามารถคิดได้ดังนี้ (3+5+6+5+9)/1 ( จำนวนรอบ ) = 28 นาทีต่อการทำงาน 1 รอบ
- 28/2 (จำนวนชิ้นงานที่ทำได้ต่อรอบ) = 14 นาที/ชิ้น
- หมายความว่าโรงงานนี้ใช้ระยะเวลาผลิตสินค้า 1 ชิ้น อยู่ที่ 14 นาที
หมายเหตุ
เมื่อได้ตัวเลขที่คำนวณออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราควรนำไปเปรียบเทียบกับค่า Takt time ที่ได้ประเมินให้กับลูกค้า จากค่าของ Cycle time = 14 นาที/ชิ้น เป็นตัวเลขที่น้อยกว่า ค่า Takt time ที่ 15.4 นาที/ชิ้น หมายความว่าประสิทธิภาพของการผลิตอยู่ในจุดที่น่าพึงพอใจ
สาเหตุที่ทำให้ Cycle time เกิดขึ้น
วัตถุประสงค์ของการใช้แนวคิด Cycle time กับการผลิตคือ ติดตามกระบวนการผลิตในทุก ๆ ขั้นตอน เพื่อประเมินว่าสามารถผลิตสินค้า ได้ตามความต้องการที่ลูกค้าแจ้งเข้ามาได้หรือไม่ มีขั้นตอนไหนที่ใช้ระยะเวลามากเกินไปหรือไม่ เพื่อให้สามารถควบคุมในเรื่องของกำลังผลิต และสามารถลดต้นทุนการผลิตในส่วนที่สามารถควบคุมได้ Cycle time เป็นแนวคิดที่สำคัญมากในกระบวนการผลิต เพราะมีส่วนโดยตรงกับความสมดุลของกระบวนการผลิต หากควบคุมได้ไม่ดีพอ จะส่งผลเสียต่อ ชื่อเสียงของบริษัท, ความพึงพอใจของลูกค้า, ระยะเวลาการทำงานที่ไม่สมเหตุสมผล, ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าเดิม เป็นต้น
ในกรณีที่ค่า Cycle time มีตัวเลขที่สูงกว่า Takt time
สำหรับในกรณีที่ค่า Cycle time มีตัวเลขที่สูงกว่า Takt time สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ “มองหาภาวะคอขวด” ภาวะคอขวดเกิดจากกระบวนการที่ดำเนินการได้ช้า ทำให้ไม่สามารถส่งต่อชิ้นงานไปสู่ขั้นตอนอื่น ๆ ได้ ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าไปทั้งระบบ การแก้ไขปัญหาคือต้องทำวิเคราะห์ปัญหาอย่างละเอียด จากนั้นแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด นอกจากการแก้ไขปัญหาคอขวดแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ อีก เช่น ลดระยะเวลาแต่ละขั้นตอนให้น้อยลง หรือ เพิ่มจำนวนชิ้นงานต่อรอบให้มากขึ้น เป็นต้น แต่ทุกขั้นตอนจะต้องคำนวณให้ดี เนื่องจากบางครั้งงานที่ผลิตออกมาได้จำนวนเยอะก็จริง แต่มีปัญหาเกี่ยวกับความเสียหายของสินค้า สุดท้ายก็จะทำให้การผลิตล่าช้าลงอยู่ดี
“Cycle time คือระยะเวลาที่ใช้ไปจริง ๆ ต่อการผลิตสินค้า 1 ชิ้น”
ความสำคัญของการควบคุม Lead time, Cycle time และ Takt time
วิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการผลิต
หากเข้าในแนวคิดของ Cycle time คุณจะสามารถกำหนด Takt time ได้อย่างแม่นยำ สามารถมอบความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น การเก็บข้อมูลในทุกขั้นตอนของการผลิต เพื่อนำไปวิเคราะห์เป็นสิ่งที่สำคัญต่อทุก ๆ ธุรกิจ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเวลาให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทำให้สุดท้ายแล้วภาพรวมของธุรกิจของคุณจะดีขึ้น ยิ่งระยะเวลา Lead time สั้นเท่าไหร่ ก็หมายความถึงมีกำลังการผลิต ที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นเท่านั้น
วางแผนการผลิต
Cycle time เป็นแนวคิดที่เก็บสถิติระยะเวลาการผลิตในทุก ๆ ขั้นตอน เพื่อให้เกิดการวางแผนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ Lead time กับ Takt time ก็เป็นตัวกำหนดความต้องการสินค้าที่จะต้องผลิตออกมาในแต่ละวัน ทั้ง 3 แนวคิดสามารถนำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อดำเนินการวางแผนการผลิตให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดออกมาได้ ช่วยสร้างความ Workflow ให้กระบวนการผลิต ไม่ก่อให้เกิดจุดคอขวดในขั้นตอนที่ไม่จำเป็น หากวางแผนทุกอย่างได้อย่างถูกต้อง รับรองว่าธุรกิจของคุณจะต้องเติบโตมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
ประเมินผลและวัดประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต
ทั้ง Lead time , Cycle time และ Takt time เมื่อคิดออกมาอย่างถูกต้อง จะทำให้มองเห็นประสิทธิภาพของการผลิต ณ เวลานั้น ๆ ได้ในทันที เนื่องจากตัวแปรทุกอย่างถูกนำมาคำนวณตีค่าออกมาเป็นระยะเวลา ในการทำธุรกิจสิ่งที่จะต้องแข่งขันกับคู่แข่งอยู่เสมอก็คือ “ระยะเวลา” ดังนั้นการประเมินผลจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อมองหาช่องทางการแก้ไขปัญหา พัฒนาศักยภาพการผลิต รวมไปถึงมองไปถึงการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นขององค์กรในอนาคตได้อีกด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่าง Lead time, Cycle time และ Takt time
แนวคิดทั้ง 3 แนวคิด มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุมีผล โดยเริ่มต้นกันที่ เมื่อ Takt time มีมาก จะทำให้ระยะเวลา Lead time นั้นสั้นลง และ หากค่าของ Cycle time นั้นทำได้ภายในระยะเวลา Takt time ที่กำหนดเอาไว้ ก็จะทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ เป็นต้น เนื่องจาก Lead time เป็นความต้องการโดยตรงของลูกค้า ซึ่งโดยส่วนมากแล้วทั้งเมื่อเกิดการสั่งซื้อสินค้า จะมีการระบุ “จำนวนสินค้า” และ “ระยะเวลาการรอคอยที่ต้องการ” ซึ่งนั่นจะส่งต่อเข้ามาที่ Takt time ซึ่งนำเอาความต้องการของลูกค้ามาคำนวณเพื่อให้ได้กำลังผลิตต่อวัน และในกระบวนการเหล่านั้นก็จะเกิด Cycle time ซึ่งหลาย ๆ Cycle time ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Lead time เชื่อมโยงกันไปแบบไม่รู้จบ
สรุป
ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด Lead time , Cycle time หรือว่า Takt time ก็เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ต้องเรียนรู้ และนำมาปรับใช้กับธุรกิจให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเรื่องของเวลาเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้ง 3 แนวคิดมีส่วนช่วยในเรื่องของการบริหารเวลาได้เป็นอย่างดี เป็นแนวคิดที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จนสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิต เพื่อให้องค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
ก้าวเข้าสู่ Industry 4.0
ดูผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่